ตลาดการส่งออกผลไม้ไทยในฮ่องกง
เวลาที่โพสต์:18:10, 10-07-2025
แหล่งข่าว:thaibizchina.com

ฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทย โดยในปี 2567 มูลค่ารวมของการส่งออกผลไม้สด ผลไม้แช่เย็น
และผลไม้แช่แข็งจากไทยไปฮ่องกงสูงถึง 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูงที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก รองจากจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และสหราชอาณาจักร จากสถิติในเดือนพฤษภาคม 2568 พบว่าฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกที่เติบโตรวดเร็วที่สุดของไทยคือร้อยละ 46.2 ทั้งนี้ ฮ่องกงมีความได้เปรียบในฐานะตลาดที่เปิดกว้าง และเป็นเมืองท่าปลอดภาษี ในขณะเดียวกัน ฮ่องกงกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลง อัตราการบริโภคภายในที่ชะงักงัน การชะลอ
การลงทุนของภาคเอกชน สภาพเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัว ตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะชะงักงัน รวมถึง
ค่าครองชีพ และค่าเช่าพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ที่อยู่ในระดับสูงมาก

ตลาดค้าผลไม้ย่าน Yau Ma Tei
ที่มา: สำนักข่าว E123 (長青網)

แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคและสภาพแวดล้อมทางการค้าของฮ่องกง

ฮ่องกงมีที่ดินเพื่อการเกษตรจำกัดหรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศในฮ่องกงอยู่ในระดับสูง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชาชนซึ่งมีจำนวนประมาณ 7.54 ล้านคน ทั้งนี้ ฮ่องกงนำเข้าสินค้าอาหารและผักผลไม้จากต่างประเทศกว่าร้อยละ 95 ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ฮ่องกงเป็นตลาดการส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทย นอกจากนี้ กระแสความนิยมรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพยังทำให้ประชาชนฮ่องกงจำนวนมากหันมารับประทานผลไม้เป็นประจำทุกวัน โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติของฮ่องกงในปี 2567 ระบุว่าประชากรฮ่องกงบริโภคผลไม้โดยเฉลี่ย 71 กิโลกรัมต่อปี อีกทั้งผลไม้ยังเป็นของฝาก
ยอดนิยมในการติดต่อธุรกิจหรือการเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในโอกาสต่าง ๆ ด้วย

ที่มา: https://gifthampers.com.hk/

จากข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือ World Competitiveness Yearbook (WCY) ประจำปี 2568 ซึ่งจัดทำโดยสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) ระบุว่าฮ่องกงเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขันเป็นอันดับ 3 ของโลกในภาพรวม และเป็นอันดับ 1 ด้านนโยบายภาษีและกฎหมายที่เอื้อต่อ
การดำเนินธุรกิจ ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่าสภาพแวดล้อมทางการค้าของฮ่องกงมีการบริหารจัดการที่ดี และมีศักยภาพจะเติบโตได้ต่อไป แม้จะมีความท้าทายหลายประการในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ฮ่องกงยังถูกจัดเป็นอันดับ 2
ของโลกด้านความเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการเงินระหว่างประเทศ อันดับ 3 ด้านการค้าระหว่างประเทศ
และระบบศุลกากรที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสะท้อนว่าฮ่องกงเป็นตลาดที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง ทั้งยังเป็นศูนย์กลางส่งออกสินค้าต่าง ๆ รวมถึงผลไม้ ไปยังเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ต่อไป โดยเฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของฮ่องกง ทั้งนี้ ร้อยละ 70 ของสินค้าจากฮ่องกงถูกส่งออกไปยังเมืองต่าง ๆ ของจีน โดยเฉพาะในเขต Greater Bay Area คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565

โอกาสของผลไม้ไทยในตลาดระดับบนของฮ่องกง

ผู้บริโภคในฮ่องกงนิยมรับประทานผลไม้ตามฤดูกาล โดยช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่ประเทศไทยส่งออกผลไม้สดไปยังฮ่องกงมากที่สุด ผลไม้ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง มะพร้าว และผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ ชาวฮ่องกงนิยมบริโภคทุเรียนจากประเทศไทยมาก โดยทุเรียนสดจากประเทศไทยได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้บริโภคฮ่องกง โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทอง ซึ่งครองตลาดทุเรียนระดับกลาง ในขณะที่ทุเรียนพันธุ์มูซันคิง (Musan King) ของมาเลเซียได้รับความนิยมมากในตลาดระดับบน ทั้งนี้ ตลาดทุเรียนในฮ่องกงมีมูลค่ารวมถึง 404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ชาวฮ่องกงนิยมรับประทานทุเรียนจากประเทศไทย
ที่มา: สำนักข่าว V1 Paper

พฤติกรรมการบริโภคผลไม้ในฮ่องกงบ่งชี้ถึงความนิยมของผู้บริโภคในฮ่องกงที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพผลผลิต และกระแสความนิยม มากกว่าปัจจัยด้านราคา โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีซื้อสินค้าในราคาสูงกว่า หากสินค้าดังกล่าวมีคุณภาพสูง ทั้งนี้ ผลไม้จากประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในฮ่องกง แต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มตลาดระดับกลาง
เน้นความสด ความหลากหลาย รสชาติอร่อยและราคาไม่แพง ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผลไม้ไทยจะขยายไปยังตลาดระดับบนต่อไป แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของผลไม้และผลผลิตจากไทยเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้บริโภคฮ่องกง อนึ่ง ปัจจัยท้าทายสำคัญคือผลผลิตจากญี่ปุ่นซึ่งครองตลาดระดับบน เนื่องจากมีภาพลักษณ์ที่ดีด้วยคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือ ขณะที่ผลผลิตจากออสเตรเลียมุ่งเน้นกลยุทธ์การตลาดที่เน้นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษและดีต่อสุขภาพ

ตราสัญลักษณ์ Q บนฉลากผลไม้จากประเทศไทย
ที่มา: สำนักข่าว The Nation Thailand

ทั้งนี้ หากผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยต้องการเข้าถึงตลาดระดับบนมากยิ่งขึ้น จะต้องพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า นอกจากนี้ หากผลไม้ไทยได้รับการยอมรับมากขึ้นจากมาตรฐานระดับสากลอย่าง GlobalGAP และ HACCP ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตลาดฮ่องกงได้มากขึ้น โดยที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยได้มีมาตรการส่งเสริมการใช้ตราสัญลักษณ์ Q เพื่อการันตีคุณภาพผลผลิตจากประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ร้านค้าปลีกระดับบนในฮ่องกงมีการจำหน่ายผลไม้ไทยมากขึ้น อาทิ City’super Oliver’s และ The Great Food Hall โดยร้านค้าเหล่านี้จะคัดสรรคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และติดฉลากระบุประเทศ
ต้นกำเนิดและคำอธิบายผลิตภัณฑ์โดยละเอียด ซึ่งจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของผลไม้ไทยและสินค้าไทย

ข่าวนี้รวบรวมโดย :SHUNNING HUANG