กว่างซีเดินหน้าหนุน ‘ผลไม้อาเซียน’ รวมทุเรียนไทย เจาะตลาดจีนต่อเนื่อง
เวลาที่โพสต์:10:56, 7-07-2025
แหล่งข่าว:xinhuathai.com

หนานหนิง, 20 มิ.ย. (ซินหัว) — ยามฤดูร้อนมาถึง ผลไม้จากอาเซียนอย่างทุเรียน มังคุด ชมพู่ และขนุน ได้ทยอยเข้าสู่ตลาดจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเห็นได้จากขบวนรถบรรทุกผลไม้สดที่วิ่งข้ามน้ำข้ามเขาจากอาเซียนสู่ด่านโหย่วอี้กวนหรือด่านมิตรภาพผิงเสียงในเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน

ท่าด่านแห่งต่างๆ ในกว่างซีได้รับรองการนำเข้าผลไม้จากอาเซียนในปี 2024 ที่คิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 1.8 หมื่นล้านหยวน (ราว 8.23 หมื่นล้านบาท) และปริมาณรวมมากกว่า 1.8 ล้านตัน ซึ่งครองส่วนแบ่งราวหนึ่งในสามของการนำเข้าผลไม้จากอาเซียนทั้งหมดของจีน

หลี่ซั่ว รองผู้อำนวยการสำนักพาณิชย์และสำนักงานท่าด่านของกว่างซี กล่าวว่าทุเรียนที่จีนนำเข้า 10 ลูกจะเป็นการนำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวน 7 ลูก โดยกว่างซีมีด่านรับรองการนำเข้า 22 แห่ง และจุดตรวจสอบผลไม้นำเข้า 12 แห่ง ซึ่งให้บริการ “ช่องทางด่วน” ที่จะดำเนินพิธีการศุลกากรให้เสร็จสิ้นภายใน 6 ชั่วโมง

ปัจจุบันกว่างซีกำลังเร่งสร้างด่านอัจฉริยะตามแนวชายแดนจีน-เวียดนาม ซึ่งจะมุ่งให้บริการพิธีการศุลกากรแบบอัจฉริยะตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเกื้อหนุนการนำเข้าผลไม้จากอาเซียนสู่ตลาดจีนได้อย่างรวดเร็วตามเป้าหมาย “ผลไม้อาเซียนเสรี”

เมื่อไม่นานนี้ มีการจัดงาน “ผลไม้อาเซียนในกว่างซี – ส่งเสริมการซื้อขายสินค้าตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สะดวกยิ่งขึ้น – ซื้อขายในกว่างซี” ในเมืองหนานหนิงของกว่างซี ซึ่งมีการลงนามโครงการความร่วมมือต่างๆ ระหว่างซัพพลายเออร์ในจีนและอาเซียนมากกว่า 20 โครงการ

โครงการเหล่านี้ประกอบด้วยการซื้อขายผลไม้อาเซียน การแปรรูปสินค้าที่มีคุณภาพสูงตามความตกลงฯ การจัดจำหน่ายผลไม้อาเซียนทั่วจีน และอื่นๆ ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลัก 8 รายการ ได้แก่ ทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม มังคุด น้ำมันปาล์ม เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดกาแฟ รังนก และเนื้อวัว

ซัพพลายเออร์ในจีนรายหนึ่งได้นำเสนอผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไทยอย่างทุเรียนและมังคุดในงานนี้ โดยทุเรียนหมอนทองเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนด้วยจากรสชาติหวานละมุน เนื้อหนานุ่ม เม็ดเล็ก ส่วนมังคุดเป็นที่นิยมจากกลิ่นหอมและรสหวานเฉพาะตัว

ทั้งนี้ ปริมาณการค้าระหว่างกว่างซีกับอาเซียนในปี 2024 รวมอยู่ที่ 3.97 แสนล้านหยวน (ราว 1.82 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบปีต่อปี ทำให้อาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกว่างซีติดต่อกัน 25 ปี

(ภาพจากสำนักพาณิชย์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง : การจัดแสดงผลไม้จากอาเซียนที่งาน “ผลไม้อาเซียนในกว่างซี – ส่งเสริมการซื้อขายสินค้าตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคสะดวกยิ่งขึ้น – ซื้อขายในกว่างซี” ในเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

 

(ภาพจากสำนักพาณิชย์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง : พิธีเปิดงาน “ผลไม้อาเซียนในกว่างซี – ส่งเสริมการซื้อขายสินค้าตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคสะดวกยิ่งขึ้น – ซื้อขายในกว่างซี” ในเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

 

(ภาพจากสำนักพาณิชย์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง : พิธีลงนามโครงการจัดจำหน่ายผลไม้อาเซียนทั่วจีนที่งาน “ผลไม้อาเซียนในกว่างซี – ส่งเสริมการซื้อขายสินค้าตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคสะดวกยิ่งขึ้น – ซื้อขายในกว่างซี” ในเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

ข่าวนี้รวบรวมโดย :SHUNNING HUANG