“เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ทางตอนใต้ของประเทศจีน ได้ประกาศชัดว่า… ขอไม่พลาด ‘ขบวนเศรษฐกิจ’ ในยุคดิจิทัลอย่าง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI (Artificial Intelligence) พร้อมคลอดโรดแมป “แผนปฏิบัติการ ‘ปัญญาประดิษฐ์ (AI) + การผลิต’ กว่างซี ปี 2568 – 2570” ที่มุ่งเป้าการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ (Breakthrough Technology) ผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ และฉากทัศน์การใช้งาน AI ในรูปแบบต่าง ๆ ที่มุ่งสู่ “อาเซียน”
“ปัจจุบัน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมรอบใหม่ ซึ่งกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในยุค AI กว่างซีต้องไม่ตกขบวน”
—————————– นายเฉิน กัง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง
แล้วใครที่รับบท ‘พระเอก’ ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการข้างต้น?? เป็นใครไปไม่ได้ นอกจากเมืองเอกและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของกว่างซี ——– “นครหนานหนิง” (Nanning) นั่นเอง
นครหนานหนิง ได้กำหนดทิศทางการพัฒนา “เทคโนโลยี AI + ฉากทัศน์นำร่องการใช้ AI” โดยให้น้ำหนักกับการเสริมพลังอุตสาหกรรมและการบริการสาธารณะ และการพัฒนาโมเดล AI ตอบโจทย์ในประเทศและอาเซียน โดยมี “ศูนย์นวัตกรรมความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) จีน-อาเซียน” (中国—东盟人工智能创新合作中心/China-ASEAN AI Collaborative Innovation Center) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ศูนย์หนาน เอ” (南 A中心) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงความร่วมมือและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในอุตสาหกรรม/ธุรกิจด้าน AI ระหว่างประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกอย่าง “จีน” กับภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลมากถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอย่าง “อาเซียน”
เส้นทางการพัฒนา “ศูนย์หนาน เอ” ของนครหนานหนิง
3 เมษายน 2568 เริ่มการก่อสร้างอาคารนิทรรศการของ “ศูนย์หนาน เอ” ถือเป็น milestone ของโครงการก่อสร้าง “ศูนย์หนาน เอ” อย่างเต็มรูปแบบ
18 เมษายน 2568 งานเสวนาธุรกิจและพิธีลงนามโครงการ “ศูนย์หนาน เอ” ภายในงานฯ มีการลงนามโครงการ 40 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 7,980 ล้านหยวน ครอบคลุมด้านชิป AI ศูนย์พลังประมวลผลอัจฉริยะ และการคมนาคมอัจฉริยะ เป็นต้น
27 มิถุนายน 2568 อาคารนิทรรศการของ “ศูนย์หนาน เอ” และงานภูมิทัศน์ ได้ผ่านการตรวจรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
29 มิถุนายน 2568 พิธีลงนามโครงการลงทุนของภาคธุรกิจจกลุ่มแรกจากอาเซียนใน “ศูนย์หนาน เอ” ประกอบด้วยธุรกิจ 16 รายจาก 6 ชาติสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศไทย
30 มิถุนายน 2568 พิธีส่งมอบกุญแจให้ภาคธุรกิจจีนกลุ่มแรกที่เข้าจัดตั้งธุรกิจในฐานบ่มเพาะ (Incubator Base) จำนวน 15 ราย นับเป็นก้าวใหม่ของการพัฒนา “คลัสเตอร์ธุรกิจ/อุตสาหกรรม AI” ของนครหนานหนิง
บริเวณย่านใจกลางเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District/五象新区) ของนครหนานหนิง สิ่งปลูกสร้างรูปทรงทันสมัยตั้งอยู่บนพื้นที่ปลูกสร้าง 19,800 ตารางเมตร ——– อาคารนิทรรศการของศูนย์หนาน เอ นั่นเอง!! ศูนย์นิทรรศการแห่งนี้เปรียบได้กับ “ประตู” บานแรกในการทำความรู้จักกับ “ศูนย์หนาน เอ”
อาคารนิทรรศการดังกล่าวเพิ่งผ่านการตรวจรับและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ “นครหนานหนิง” ในการกระชับความร่วมมือและเปิดกว้างในมิติใหม่สู่อาเซียน และเป็นการส่งสัญญาณว่า…แพลตฟอร์มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ สถาบันการศึกษา การวิจัย และการประยุกต์ใช้งานที่มีครบวงจรแห่งแรกในภูมิภาคได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว และจะเป็นการสร้างพลวัตรใหม่ในการกระชับความร่วมมือเชิงลึกในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีนและอาเซียน
“ศูนย์หนาน เอ” อาศัยสำนักกิจการการสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Communication Gateway Bureau/国际通信业务出入口局) และศูนย์ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์จีน-อาเซียน (China-ASEAN AI Data Center/中国—东盟人工智能数据中心) ในการสร้าง “ทางด่วน” สำหรับการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดน โดยจะทำหน้าที่เป็น “ซูเปอร์อินเทอร์เฟซ” ในการเชื่อมโยงเทคโนโลยีจีน ตลาดอาเซียน และทรัพยากรโลก และเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการกำหนดกฎกติกา/มาตรฐานการกำกับดูแลดิจิทัลในระดับภูมิภาค
5,000 PFlops (1 PFlops เท่ากับ 1,000 ล้านล้าน) ——– ประสิทธิภาพพลังการประมวลผลของ “ศูนย์หนาน เอ” ที่วางแผนไว้ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถรองรับการฝึกอบรม (Training) และการอนุมาน (Inference) ของโมเดล AI ข้ามพรมแดน และมีอัตราการใช้พลังการประมวลผลสูงถึงร้อยละ 75
ปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ ในสาขาการวิจัยและพัฒนาอัลกอริทึมการประมวลผล การผลิตอุปกรณ์การประมวลผลอัจฉริยะ และการพัฒนาแอปพลิเคชันอัจฉริยะ (AI Agents) ได้เริ่มสร้างระบบนิเวศธุรกิจเชิงลึก ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 “ศูนย์หนาน เอ” มีการลงนามสัญญาการลงทุนสะสม 43 โครงการ ในจำนวนนี้ มี 25 โครงการที่ผ่านมาอนุมัติ “ฟรีค่าเช่า” แล้ว และในจำนวนนี้ มี 34 โครงการที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท/เลือกทำเลที่ตั้งโครงการแล้ว นอกจากนี้ ยังมีอีก 49 โครงการที่อยู่ระหว่างการตกลงเจรจา
เป้าหมายการเป็น “Highland ของอุตสาหกรรม/ธุรกิจ AI ที่มุ่งสู่อาเซียน” นครหนานหนิงได้ตั้งเป้าหมายว่าจะดึงดูดเทคโนโลยี บริษัท และบุคคลระดับหัวกะทิ (Talent) ในแวดวง AI ให้เข้าไปรวมตัวกันที่นครหนานหนิง โดยอาศัยความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่ใกล้ชิดกับอาเซียน (รัฐบาลกลางกำหนดให้เป็น Gateway to ASEAN) และความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลที่รู้ภาษาในอาเซียน นครหนานหนิงเป็นแหล่งบ่มเพาะนักศึกษาที่เรียนภาษาของชาติสมาชิกอาเซียนมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน)
ในพิธีลงนามโครงการลงทุนของภาคธุรกิจจกลุ่มแรกจากอาเซียนใน “ศูนย์หนาน เอ” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 มีบริษัท 16 รายจาก 6 ชาติสมาชิกอาเซียน อาทิ บริษัท Vela Group จากเวียดนาม / บริษัท Barium Tech จากสิงคโปร์ / บริษัท Huixi Group จาก สปป.ลาว / บริษัท GT จากเมียนมา / บริษัท Xingyu Group จากฟิลิปปินส์ และบริษัท Longhao จากประเทศไทย ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะเข้ามาพัฒนาธุรกิจ/อุตสาหกรรม AI ในหลากหลายสาขา เช่น การวิจัยและพัฒนา AI แอปพลิเคชันอัจฉริยะ การค้าข้ามพรมแดน และการฝึกอบรมด้านการอาชีวศึกษา
เพื่อกระชับความร่วมมือให้ ‘แน่นปึก’ ยิ่งขึ้น “ศูนย์หนาน เอ” จะเร่งผลักดันให้ชาติสมาชิกอาเซียนเข้าไปจัดตั้งสำนักงานตัวแทน (Liaison office) ที่ศูนย์ดังกล่าวให้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ย่อย หรือ Sub-center อีกหลายแห่งในอาเซียน และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า (Greater Bay Area – GBA) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านนวัตกรรม AI จีน-อาเซียนที่มีความครอบคลุมและหลายระดับ
ในอนาคต “ศูนย์หนาน เอ” แห่งนี้จะเป็นระบบนิเวศธุรกิจแบบครบวงจรภายใต้โมเดล “วิจัยและพัฒนาที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเซินเจิ้น – รวมตัวกันที่กว่างซี (หนานหนิง) – ประยุกต์ใช้งานที่อาเซียน” โดยนายเหมย ตี๋ (梅迪) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Steam Computing (希姆半导体科技有限公司) มองว่า “ศูนย์หนาน เอ” จะเป็นจุดเชื่อมโยงของระบบนิเวศ AI ที่สามารถพึ่งพาตัวเองและควมคุมได้ และมีขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ในระดับโลก โดยบริษัทฯ มีแผนจะลงทุน 600 ล้านหยวนเพื่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาชิปและศูนย์คอมพิวติ้งอัจฉริยะ (Intelligent Computing Center) ที่ “ศูนย์หนาน เอ” เพื่อชิงตลาดอาเซียน
ในระยะต่อไป นครหนานหนิงกำลังเร่งผลักดันแผนงานก่อสร้างแพลตฟอร์มอีกหลายโครงการ อาทิ ศูนย์ข้อมูลระหว่างประเทศ (International Data Center/国际数据中心) คลัสเตอร์ศูนย์พลังประมวลผล (Computing Power Center Cluster/算力中心集群) และคลังข้อมูลภาษาอาเซียน (ASEAN Languages Corpus/东盟国家语料库) และแพลตฟอร์มอำนวยการพลังประมวลผล AI จีน-อาเซียน (China-ASEAN AI Computing Dispatching Platform/中国—东盟人工智能算力调度平台)
นครหนานหนิงจะส่งเสริมการพัฒนาฉากทัศน์การใช้งาน AI อาทิ การออกแบบการเรียนรู้ (Training Model) กระบวนการกำกับข้อมูลและสร้างชุดข้อมูลเพื่อนำไปให้ AI เรียนรู้ (Data Annotation) และการประยุกต์ใช้ AI plus ไม่ว่าจะเป็น AI + การบริการภาครัฐ/การศึกษา/การแพทย์/การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม รวมถึงจะส่งเสริมการพัฒนา AI Agents ส่งเสริมให้ AI ช่วยสร้างสรรค์ธุรกิจ ช่วยสร้างพื้นที่การเติบโตให้ภาคธุรกิจ
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) ครั้งที่ 22 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 21 กันยายน 2568 ที่นครหนานหนิง เขตฯ กว่างซีจ้วง ฝ่ายผู้จัดได้เพิ่มไฮไลท์ใหม่ให้กับงานในปีนี้ด้วยการจัด “AI Pavilion” รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้าน AI ภายใต้ธีม “ร่วมมือในยุคอัจฉริยะ ร่วมสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล” เพื่อใช้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็น ‘ช่องทาง’ การประชาสัมพันธ์นโยบายและยุทธศาสตร์ความร่วมมือนวัตกรรม AI จีน-อาเซียน เป็น ‘เวที’ แสดงผลงานด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของบริษัท AI ของจีน และเป็น ‘จุดนัดพบ’ ของอุปสงค์กับอุปทานของความร่วมมือด้าน AI ระหว่างจีน-อาเซียน
กรมพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่กว่างซี (Guangxi Big Data Development Bureau/广西大数据发展局) ให้ข้อมูลว่า อาคารจัดแสดง AI ประกอบด้วยโซนประชาสัมพันธ์กว่างซีความร่วมมืออาเซียน เทคโนโลยีแกน AI และ AI + ฉากทัศน์การใช้งานต่าง ๆ รวมถึงโซนจุดจับคู่ความร่วมมือ และโซนสัมผัสประสบการณ์แห่งโลกอนาคต
บีไอซี เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก “ศูนย์หนาน เอ” และ “งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 22” ในนครหนานหนิง ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้าน AI ระหว่างไทยกับกว่างซี(จีน) ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI + ฉากทัศน์การใช้งานต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาด ทั้งด้านการพัฒนาโซลูชันทางธุรกิจ การศึกษา การแพทย์ และการท่องเที่ยว
สตาร์ทอัปไทยที่มีศักยภาพและมีความสนใจจะ “ก้าวออกไป(กว่างซี)” และ “เชิญเข้ามา(ไทย)” ระหว่างไทย-กว่างซี สามารถแสวงหาโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือ AI กับกว่างซี(จีน) ผ่าน “ศูนย์หนาน เอ” รวมถึงแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ข้อมูลระหว่างประเทศ คลังข้อมูลภาษาอาเซียน และแพลตฟอร์มอำนวยการพลังประมวลผล AI จีน-อาเซียน และการหาพันธมิตรทางธุรกิจผ่าน “China-ASEAN Expo ครั้งที่ 22” ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมี “ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นอีกกลไกที่สามารถสนับสนุนและแสวงหาแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างไทยกับจีน ที่สถาบันการศึกษาและสตาร์ทอัปไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย
ข่าวนี้รวบรวมโดย:SHUNNING HUANG