ส่องสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลกว่างซี ฤดูหีบอ้อย 2567/2568 กับแนวทางการเรียนรู้ของประเทศไทย
เวลาที่โพสต์:16:52, 24-07-2025
แหล่งข่าว:thaibizchina.com

เมื่อถามถึง “พืชไร่เศรษฐกิจ” ที่มีความสำคัญในมิติทางเศรษฐกิจ หลาย ๆ คนคงมีคำตอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด มันสำปะหลัง รวมถึง “อ้อย” ที่ถือเป็นพืชไร่ที่มีคุณค่าและความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมการเกษตรในหลายประเทศ/ดินแดนทั่วโลก เพราะเป็น “วัตถุดิบหลัก” ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล รวมถึงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (จีน) ด้วย

แหล่งกำเนิดดั้งเดิมของ “อ้อย” อยู่ที่ “นิวกินี” ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีหลักฐานยืนยันว่าชาวพื้นเมืองบนเกาะนิวกินีปลูกอ้อยไว้เคี้ยวกินเล่นตั้งแต่โบราณกาล นักพฤกษศาสตร์ในยุคหลัง ๆ สันนิษฐานตรงกันว่า อ้อยพันธุ์ดั้งเดิม (Saccharum officinarum L.) มีต้นกำเนิดบนเกาะนิวกินี

————— เอกสารวิชาการอ้อย ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร


เขตฯ กว่างซีจ้วงรั้งเก้าอี้ ‘เบอร์ 1’ ในอุตสาหกรรมน้ำตาลของจีนต่อเนื่อง 34 ฤดูกาลผลิต ด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยและผลผลิตน้ำตาลที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ มีวลีพูดว่า “น้ำตาลทุก 3 ช้อนในประเทศจีน มี 2 ช้อนเป็นน้ำตาลที่ผลิตในกว่างซี” (ฤดูหีบอ้อยของกว่างซีอยู่ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายนของปีถัดไป)

เมื่อไม่นานมานี้ (1 ก.ค. 2568) คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Development and Reform Committee/广西发展改革委员会) ได้แถลงข่าวสถานการณ์อ้อยและน้ำตาล ประจำฤดูหีบอ้อย 2567/2568 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ฤดูหีบอ้อย 2567/2568 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 11.35 ล้านหมู่จีน หรือราว 4.73 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากฤดูหีบอ้อยที่แล้ว 110,000 หมู่จีน หรือราว 45,835 ไร่ มีผลผลิตน้ำตาล 6.465 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 283,600 แสนตัน

เขตฯ กว่างซีจ้วงส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลในกระบวนการผลิต และส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเครื่องเก็บเกี่ยวอ้อยที่เหมาะสำหรับพื้นที่เนินเขา เพื่อรับมือกับแรงงานภาคการเกษตรที่ลดลง และการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ปัจจุบัน มีอำเภอนำร่องการใช้เครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตพืชไร่เศรษฐกิจหลัก (อ้อย) ระดับประเทศ จำนวน 3 อำเภอ และมีพื้นที่ฐานสาธิตการเก็บเกี่ยวอ้อยแบบครบวงจร จำนวน 23 แห่ง

มีคำกล่าวที่ว่า “พันธุ์อ้อย” เปรียบเสมือน “ชิป” ของอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่ผ่านมา เขตฯ กว่างซีจ้วงประสบความสำเร็จอย่างมากในการปรับปรุงพันธุ์อ้อย ข้อมูลปี 2567 พบว่า อ้อยพันธุ์ใหม่ของกว่างซีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนระดับประเทศมีทั้งหมด 18 พันธุ์ คิดเป็นร้อยละ 58 ของพันธุ์อ้อยจากทั่วประเทศที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

เมื่อต้นปี 2568 ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยกว่างซี ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพันธุกรรม (Genome) ของพันธุ์อ้อย XTT22 (新台糖22号) ช่วยไขความลับทางพันธุกรรมที่มีความซับซ้อนของอ้อยและวิวัฒนาการของพันธุ์อ้อย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพันธุ์อ้อยคุณภาพดีที่ให้ผลผลิตสูง ค่าความหวานสูง และต้านทานโรคมากยิ่งขึ้นอีกในอนาคต

—————– อ่านเพิ่มเติมที่ ไขรหัสพันธุกรรม ‘อ้อย’ ได้แล้ว โอกาสพัฒนา ‘ความหวาน’ ไทย-กว่างซี


บนแพลตฟอร์ม China Seed Big data (中国种业大数据平台) ของกรมกำกับกิจการเมล็ดพันธุ์ (种业管理司/Department of Seed Industry) กระทรวงเกษตรและชนบทแห่งชาติจีน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีพันธุ์อ้อยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของพันธุ์อ้อยทั้งหมดบนแพลตฟอร์มฯ

อัตราการปลูกอ้อยพันธุ์ดี (พันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีคุณภาพความหวานสูง และทนทานต่อโรค) เกือบร้อยละ 99 ของพื้นที่ปลูกทั้งกว่างซี โดยในจำนวนนี้ เป็นการปลูกอ้อยพันธุ์ดีที่กว่างซีพัฒนาขึ้นเองมากกว่าร้อยละ 92 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด

ในเขตฯ กว่างซีจ้วงมีองค์กร (บริษัท) ที่ดำเนินธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช 13 ราย โรงงานท่อนพันธุ์อ้อย 141 ราย ฐานเพาะขยายพันธุ์อ้อยพันธุ์ดี 170 แห่ง สามารถสนับสนุนกล้าพันธุ์อ้อยปลอดเชื้อที่มีคุณภาพดีให้กับชาวไร่อ้อยปลูกได้ราวปีละ 1.8 ล้านหมู่จีน หรือราว 750,000 ไร่

“มุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม” เป็นอีกภารกิจสำคัญในการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของกว่างซี จากที่โรงงานผู้ผลิตน้ำตาลในกว่างซีส่วนใหญ่เน้นการผลิตน้ำตาลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม เป็นการผลิตเพื่อป้อนโรงงานอาหารและเครื่องดื่มในประเทศโดยตรง หลายปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตเร่งต่อยอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมน้ำตาล พัฒนาการแปรรูปน้ำตาลเชิงลึกเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์น้ำตาล อาทิ น้ำตาลที่มีคุณสมบัติเชิงหน้าที่ (Functional Sugar) น้ำตาลไซรัป/น้ำเชื่อม น้ำตาลที่ใช้ในอุตสาหกรรมยา (สารตั้งต้น/วัตถุดิบทางยา) รวมถึงการพัฒนาความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องดื่มน้ำอ้อย เหล้ารัม รวมถึงน้ำส้มสายชูหมักจากอ้อย และเบียร์อ้อยที่เมืองฉงจั่ว (Chongzuo City/崇左市)

นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงยังส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและของเสีย ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม

ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีอัตราการใช้ประโยชน์จากชานอ้อย กากน้ำตาล (Molasses) และกากตะกอนหม้อกรอง (Filter cake) ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ และอัตราใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการจากใบอ้อยนอกไร่เกินร้อยละ 40 อย่างเช่นการสร้างฐานการผลิตและส่งออกภาชนะชานอ้อยที่เมืองหลายปิน (Laibin City/来宾市)

ทีมนักวิจัยของ Guangxi Transportation Science and Technology Group Co.,Ltd. ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมเส้นใยชานอ้อย (bagasse fiber) สำหรับใช้เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นผิวจราจรเป็นที่แรกของประเทศจีน โดยพื้นผิวจราจรที่มีส่วนผสมของเส้นใยชานอ้อยมีคุณสมบัติเทียบเคียงกับแอสฟัลต์ที่ใช้วัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลส และมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความทนทานในการใช้งานของพื้นผิวถนน ความทนทานต่อสภาพอากาศ และความต้านทานต่อการล้า (fatigue resistance) ได้ดี

———————– อ่านเพิ่มเติม จากชานอ้อยสู่ Smart Products : นวัตกรรมสร้างถนน โอกาสที่น่าเรียนรู้ของไทย


ท้ายสุด เขตฯ กว่างซีจ้วงได้พัฒนาโมเดลความร่วมมือในอุตสาหกรรมน้ำตาล “ปลูกอ้อยที่เวียดนาม + ผลิตน้ำตาลที่กว่างซี” อย่างเช่นอำเภอหลงโจว และอำเภอต้าซินของเมืองชายแดนฉงจั่ว กับอำเภอในจังหวัดกาวบั่ง (Cao Bằng) ได้ลงนามข้อตกลงในการปลูกอ้อย และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการปลูกและส่งออกอ้อยที่ใช้ในการผลิตน้ำตาล โดยเวียดนามเป็นฝ่ายสนับสนุนที่ดินและแรงงาน ขณะที่ฝ่ายกว่างซี(จีน)เป็นฝ่ายสนับสนุนพันธุ์อ้อย ปุ๋ย และส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคไปให้คำแนะนำในการปลูกอ้อยให้กับเกษตรกรเวียดนาม และซื้อคืนอ้อยที่ปลูกจากเวียดนาม

ปัจจุบัน โรงงานน้ำตาลหลายรายของกว่างซีไปพัฒนาฐานวัตถุดิบราว 36,000 หมู่จีน หรือราว 15,000 ไร่ ในประเทศเวียดนาม และมีการแลกเปลี่ยนด้านเทคนิค ในฤดูหีบอ้อยปี 2567/2568 การนำเข้าอ้อยเวียดนามของกว่างซีมีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

เมื่อมาพิจารณาในบริบทของประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก โครงสร้างอุตสาหกรรมมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับเขตฯ กว่างซีจ้วง กอปรกับทุกภาคส่วนกำลังมุ่งผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-economy / Circular Economy / Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

บีไอซี เห็นว่า แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนา “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล” ของกว่างซี เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการเรียนรู้ที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยสามารถแบ่งปันประสบการณ์ หรือพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาวิจัย ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศ เพื่อนำพาอุตสาหกรรมไปสู่ “การเติบโตสีเขียว” (Green growth) และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศไทย

ข่าวนี้รวบรวมโดย :SHUNNING HUANG